ภาษีที่เกี่ยวข้อง กรณีจัดงานปีใหม่ให้พนักงาน และของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้า - บริษัท เอทีเอส การบัญชี จำกัด

ภาษีที่เกี่ยวข้อง กรณีจัดงานปีใหม่ให้พนักงาน และของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้า

ภาษีที่เกี่ยวข้อง กรณีจัดงานปีใหม่ให้พนักงาน และของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้า

การจัดงานปีใหม่ให้ พนักงาน

การจัดงานปีใหม่ให้พนักงานในช่วงปีใหม่ หากนายจ้างได้มีการเขียนไว้เป็นสวัสดิการมีระเบียบระบุไว้ มีประเด็นในทางภาษีที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ถือเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ไม่ต้องห้าม
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นสามารถนำมาเคลมได้ ไม่ต้องห้าม
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ถือเป็นเงินได้ที่ได้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 ( 10 )
http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html#mata42

ส่วนของขวัญปีใหม่ที่ให้กับพนักงาน
การที่นายจ้างให้ของขวัญปีใหม่แก่พนักงานประจำปีและกำหนดไว้เป็นระเบียบสวัสดิการพนักงาน ไม่ว่าจะให้ทุกคนหรือให้เฉพาะบางคนถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานตามมาตรา 40 (1) นายจ้างมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายพนักงานตามมาตรา 50 (1) มีประเด็นทางด้านภาษีที่ต้องพิจารณาดังนี้
1. ด้านนายจ้าง
1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม
1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้านายจ้างเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของขวัญดังกล่าวสามารถขอคืนหรือเครดิตภาษีขายได้ไม่ต้องห้าม

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อนายจ้างได้มอบของขวัญให้แก่พนักงาน ถือว่านายจ้างขายสินค้าให้แก่พนักงานต้องนำส่งภาษีขายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามมาตรา 77/1 (8) และกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 ข้อ 2. (10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร
http://www.rd.go.th/publish/3568.0.html

ข้อสังเกต ถ้านายจ้างให้ของขวัญแก่พนักงานจะต้องเสียภาษีขายถือเป็นการขายในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าให้เป็นเงิน บัตรกำนัล หรือสินค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น หนังสือ ตำรา ก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ด้านลูกจ้าง
ถือเป็นเงินได้พีงประเมินของพนักงานตามมาตรา 40 (1) ดังนั้นผู้รับต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

ของขวัญปีใหม่ให้ ลูกค้า

การแจกของขวัญหรือของชำร่วยให้แก่ลูกค้า มีภาษีตามประมวลรัษฎากรมาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง สรุปได้ ดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยปกติการแจกของขวัญหรือของชำร่วย ถือเป็นการขายสินค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กฎหมายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ได้กำหนดลักษณะและเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี สำหรับการให้ของขวัญหรือของชำร่วยที่เป็นสินค้าจำพวกปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีชื่อของผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ และจะต้องมีราคาไม่เกินสมควร
นั่นก็หมายความว่า หากของขวัญหรือของชำร่วยที่แจกให้ลูกค้าเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ประกอบการไม่ต้องนำมูลค่าของขวัญหรือของชำร่วยที่แจกให้แก่ลูกค้าไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการซื้อของขวัญหรือของชำร่วยที่แจกให้แก่ลูกค้าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะของขวัญฯ ถือเป็นค่ารับรองทำให้ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้
กรณีของขวัญฯ ที่ให้แก่ลูกค้า หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ที่กล่าวมา ก็จะต้องนำมูลค่าของขวัญ ฯลฯ ไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมออกใบกำกับภาษีด้วย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของขวัญหรือของชำร่วยที่ผู้ประกอบการได้แจกให้แก่ลูกค้านั้นถือว่าเป็นการขายสินค้า ผู้ประกอบการไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

รายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล ของขวัญหรือของชำร่วยที่ให้แก่ลูกค้าถือเป็นค่ารับรอง ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามที่มิให้ขอคืนภาษี สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้

ท่านผู้ประกอบการที่ทุนหนาหรือทุนน้อยแต่ใจใหญ่ จะแจกของขวัญหรือของชำร่วยที่มีราคาสูงเกินสมควรก็สามารถทำได้ ไม่มีข้อห้ามไว้ แต่ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ

Share Button

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *