ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google - บริษัท เอทีเอส การบัญชี จำกัด

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google

การจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google มีประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล

รายจ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ และมีหลักฐานการจ่ายถูกต้อง ซึ่งโดยปกติ จะพิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก การดูว่ารายจ่ายเกี่ยวข้องกับกิจการหรือไม่ เอกสารจะบอกได้ครับ คือจะต้องมีชื่อบริษัทเราอยู่ในเอกสารนั้น ถ้าเป็นชื่อกรรมการ ชื่อบุคคล หรือสด อันนี้พิสูจน์ไม่ได้ครับว่า เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องพิสูจน์ผู้รับเงินได้ว่าเราจ่ายเงินให้ใคร ดังนั้น การจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook หรือ Google ก็ควรจะออกใบเสร็จในนามบริษัทนะครับ จะได้พิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับกิจการจริง ส่วนเรื่องการจ่ายเงิน ปกติก็ต้องจ่ายทาง บัตรเครดิต หรือโอนเงินอยู่แล้ว ก็ใช้หลักฐานนั้นแนบประกอบว่ามีการจ่ายค่าโฆษณาจริง รายจ่ายนี้ก็เป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคได้ ไม่ต้องห้าม

2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ ในมาตรา 70 ระบุไว้ดังนี้

มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

แต่เนื่องจากเงินได้ค่าโฆษณา ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(80) จึงไม่อยู่ในข่ายต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้นการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ โดยที่ผู้ให้บริการไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และมีการใช้บริการนั้นในประเทศ กรณีนี้จ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Goole ซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ แต่เป็นการโฆษณาในประเทศไทย ถือว่าเป็นการใช้บริการในประเทศไทย ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (อ้างอิงตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2))

โดยผู้จ่ายค่าโฆษณา จะต้องยื่นแบบ ภพ 36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณาไป โดยคำนวณจากยอดที่จ่ายจริง (ที่แปลงเป็นเงินบาทแล้ว) คูณ 7% และกรอกแบบนำส่ง ภพ 36 ถ้ามีการจ่ายทั้ง Facebook และ Google ในเดือนเดียวกัน ก็ให้แยกกรอกกันคนละใบ

เมื่อได้นำส่งภาษีตาม ภพ 36 แล้ว ใบเสร็จของกรมสรรพากร ถือเป็นภาษีซื้อ ที่สามารถนำมาหักภาษีขายได้ ถือตามวันที่ในใบเสร็จ ภพ 36 เป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีนั้น ๆ เช่น จ่ายให้ Facebook เดือน 6/63 ไปยื่น ภพ 36 ภายในวันที่ 7/7/63 ก็จะได้ใบเสร็จมาเป็นวันที่ 7/7/63 ก็นำใบเสร็จนั้นไปยื่นเป็นภาษีซื้อของเดือน 7/63 ครับ แต่ ใบเสร็จภพ 36 นี้ ไม่ได้สิทธิยื่นช้า 6 เดือนนะครับ เพราะตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 4 ระบุไว้ว่า

ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุดังต่อไปนี้

(1) เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า

(2) เหตุสุดวิสัย

(3) ได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี

ภาษีซื้อที่มีสิทธิยื่นช้าได้ 6 เดือนนั้น จะต้องมีเหตุตามคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น ใบเสร็จ ภพ 36 เมื่อจ่ายแล้ว ก็จะได้รับมอบจากเจ้าหน้าที่สรรพากรเลย จึงไม่เข้าเหตุทั้ง 3 ข้อ ดังนั้นรายการนี้ห้ามยื่นล่าช้านะครับ

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้องให้ยื่น ภพ 36 ด้วยในเมื่อยื่นแล้ว ก็มาเป็นภาษีซื้อหักคืนอยู่ดี ก็อธิบายแบบนี้ครับ ปกติเวลาเราจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ก็จะต้องมีภาษีขายที่ทางผู้ขายเรียกเก็บเพิ่มอยู่แล้ว แต่กรณีนี้ ทาง Facbook, Google ไม่ได้เรียกเก็บภาษีขายเราเพิ่ม ดังนั้นสรรพากรเลยกำหนดให้ผู้จ่าย ทำการจ่ายภาษีขายเพิ่มไปด้วย แล้วนำส่งให้สรรพากร แทน Facebook, Google พอเราจ่ายแล้ว ยอดภาษีที่เราจ่ายก็จะเป็นภาษีซื้อของเรามาหักได้ โดยใช้ใบเสร็จ ภพ 36 เป็นหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อนั่นเองครับ

ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวัง คืออย่าลืมยื่น ภพ 36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google นะครับ

Share Button

22 thoughts on “ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google

  1. รบกวน สอบถามค่ะ แล้วถ้าไม่ยื่น มีประเด็นอะไรไหมค่ะ

    1. ถ้าไม่ยื่น แล้วเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจเจอ ก็อาจจะโดนปรับเหมือนการยื่นภาษีขาย ขาดไปครับ ถ้าเรารู้แล้วก็ทำให้ถูกต้องดีกว่าครับ อย่างน้อยรายการต่อจากนี้ไปก็ยื่นให้ถูกต้องครับ

  2. รบกวนสอบถามค่ะ กรณีเราจ่ายให้บริษัทในประเทศไทย เป็นตัวแทน(partner) คิดค่าบริการ (เติมเงิน) google marketing และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนนี้เราต้องห้กภาษี ณ ที่จ่ายมั้ยคะ

    1. ถ้าจ่ายให้ตัวแทนในไทย ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายปกติ เหมือนกับบริษัทในไทยทั่วไปครับ ถ้าเป็นค่าโฆษณา ก็หัก 2% ครับ

  3. หากเราเป็นบริษัท แต่ยังไม่จดยื่น ภพ.30 เมื่อจ่ายค่าโฆษณาผ่าน facebook /google ต้องยื่น ภพ.36 ด้วยมั้ยค่ะ

    1. ต้องยื่นด้วยครับ ให้คิดเหมือนว่า ทาง FB/google เรียกเก็บภาษีขายเรา แม้ว่าเราไม่จดแว๊ต ก็ต้องจ่ายภาษีขายด้วยเหมือนกันครับ

  4. สอบถามค่ะ ถ้าเราจ่ายเงินให้ fb วันที่ 26 ส.ค. บัตรเครดิตเราตัดยอดวันที่ 7 ก.ย. เละส่งใบเรียกเก็บวันที่ 9-10 ก.ย. กำหนดชำระวันที่ 27 ก.ย. ขอสอบถามค่ะ แบบนี้ เราต้องจากภพ. 36 ภายในวันที่ เท่าไรค่ะ

    1. ยื่นตามวันที่ตัดยอดบัตรเครดิตครับ คือวันที่ 7 กย. เพราะเป็นวันที่เราจ่ายเงินจริงครับ

  5. ได้รับใบกำกับภาษีจาก Google มีการชาร์จ VAT 7% แล้วทางเราต้องยื่น ภ.พ.36มั้ยค่ะ และถ้าหากไม่ต้องยื่นเราสามารถนำใบกำกับภาษีจาก Google มาขอคืนเครดิตภาษี ภพ.30ได้มั้ยค่ะ

    1. ถ้าเป็น บริษัท จะต้องไปแจ้งเลขผู้เสียภาษีว่าเป็นผู้ประกอบการแว๊ต กับทาง Google เพื่อให้ทาง Google ไม่ต้องคิดแว๊ต 7% เพิ่มครับ และบริษัท ยังมีหน้าที่นำส่ง ภพ 36 เหมือนเดิม และนำใบเสร็จ ภพ36 มาเป็นภาษีซื้อ แต่ถ้าไม่แจ้งเลขผู้เสียภาษี ทาง Google จะคิดแว๊ตเพิ่ม และไปนำส่งให้สรรพากรเอง และทาง Google ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ (ตาม กม. e-service) ดังนั้นใบเสร็จของทาง Google ที่เรียกเก็บแว๊ตเพิ่มไป ไม่ใช่ใบกำกับภาษี ไม่สามารถมาขอเครดิต ภาษี ภพ 30 ได้ครับ

  6. ขอสอบครับ กรณีถ้าเราจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook วันที่ 27 พ.ค. แต่ไม่ได้ยื่นภพ.36 ภายในวันที่ 7 มิ.ย.อย่างนี้ต้องยื่นเสียภาษี ภพ.36 เดือน พ.ค.64 ย้อนหลังมั๊ยครับ

    1. ภพ36 ต้องยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายครับ ถ้าเอาให้ถูก ก็ต้องยื่นย้อนหลังครับ

  7. Ad Credit ที่ได้ฟรีจากเฟสบุ๊คต้องรวมคำนวณภาษีไม๊คะ

    1. ได้ฟรีไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา ไม่ต้องรวมคำนวณภาษีครับ

  8. ได้รับใบเรียกเก็บเงินจาก Facebook มายอดหนึ่ง แต่มี เครดิตโฆษณา มาอีกยอดหนึ่ง ต้องนำเครดิตโฆษณามายื่น ภพ.36 ด้วยไหมคะ

    1. ไม่แน่ใจว่ายอดเครดิตโฆษณา หมายถึง ยอดส่วนลดหรือเปล่า ถ้าเป็นยอดส่วนลด ก็ให้เอามาหักก่อน และยื่นภพ 36 ตามยอดที่จ่ายจริงครับ

  9. ใบกำกับภาษี line แต่หัวบิลเป็น บริษัทไลน์ที่ต้องอยู่ในไทย ต้องยื่น ภพ.36 ไหม

    1. ถ้าเป็นหัวบริษัท Line ที่อยู่เป็นประเทศไทย ออกเป็นใบกำกับภาษีมีแว๊ตอยู่แล้ว ก็เหมือนบริษัทในไทยทั่วไปครับ ไม่ต้องยื่น ภพ 36 ครับ ใช้เป็นภาษีซื้อได้เลยครับ

  10. ถ้ายื่นย้อนหลังเรียบร้อยแล้ว ใบเสร็จที่ได้นั้นสามารถนำไปเครดิตภาษีในเดือนที่ยื่นได้หรือไม่คะ

    1. ใบเสร็จ ภพ36 ของกรมสรรพากร ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนที่จ่ายครับ (ยึดตามวันที่ในใบเสร็จสรรพากร) และรายการนี้ ไม่ได้สิทธิยื่นช้า 6 เดือนนะครับ จะต้องยื่นในเดือนภาษีที่จ่ายเท่านั้นครับ

  11. แล้วใบเสร็จที่มีการตัดเงินจาก Google บริการอื่น เช่น โปรเเกรมตัดต่อ vimeo ใบเสร็จรับเงินที่ออกมาเป็นที่อยู่ต่างประเทศแล้วมีการบวกภาษี 7% เราต้องยื่นภพ.36 ด้วยไหมคะ (ลงไว้เป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้เอาภาษีมาใช้) ขอบคุณค่ะ

    1. ถ้ามีการบวก 7% แล้ว แสดงว่า ไม่ได้แจ้งทาง google ว่าเราเป็นผู้ประกอบการแว๊ตครับ ทาง google จะคิดแว๊ต 7% เพิ่มเหมือนเป็นบุคคลธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการแว๊ต ที่ถูกต้องต้องไปแจ้งกับ Google แล้วทาง google จะไม่บวก 7% เพื่อให้เราไปนำส่ง ภพ 36 แทนครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *