ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดสัมมนาต่างจังหวัด - บริษัท เอทีเอส การบัญชี จำกัด

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดสัมมนาต่างจังหวัด

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดสัมมนาต่างจังหวัด

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดสัมมนาต่างจังหวัด การจัดสัมมนาต่างจังหวัด

การจัดสัมมนาต่างจังหวัด

หลายบริษัท มีการจัดสัมมนาให้กับพนักงานของตนเองที่ต่างจังหวัด โดยเป็นการอบรมพนักงาน พร้อมกับให้พนักงานไปพักผ่อนไปด้วยในตัว ดูแล้วเหมือนกับการพาพนักงานไปเที่ยว แล้วจะบันทึกค่าใช้จ่ายอย่างไร สามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่ ภาษีซื้อที่เกิดจากการอบรมสัมมนาต่างจังหวัด สามารถเคลมได้หรือไม่

ภาษีที่เกี่ยวข้อง

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 122/2545

ข้อ 2  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ เพื่อการศึกษาหรือฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้าง ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) ค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของตน (In-house Training) โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นดำเนินการฝึกอบรมเอง หรือว่าจ้างให้สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพของทางราชการ หรือสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพของเอกชนดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของตน

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาแบบ In-House Training ตามข้อ 2 (3) สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ไม่ต้องห้าม และเมื่อ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ ภาษีซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามไปด้วย บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อ (vat) ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมดังกล่าวท้งหมด รวมทั้งค่าอาหารมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร  ไม่ว่าจะเป็นการจัดในกรุงเทพ หรือต่างจังหวัด (แต่ไม่ครอบคลุมถึงการจัดสัมมนาในต่างประเทศ)

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสัมมนา ได้แก่

  • ค่าจ้างบริษัทภายนอกให้เข้ามาจัดการฝึกอบรมแก่พนักงานลูกจ้างของตน
  • ค่าใช่จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอาหารว่าง ค่าอาหารกลางวันที่ทางบริษัทจัดสรรให้กับพนักงานที่เข้าอบรม และวิทยากรนั้น

ค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาต่างจังหวัด หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าหรือไม่

เกี่ยวกับรายจ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นไปตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ดังนี้
“มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(2) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”

อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 148) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ดังต่อไปนี้
ข้อ 2 หลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง และได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างแต่ละคนนั้นต้องเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
ข้อ 3 การฝึกอบรมตามข้อ 2 ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้างนั้น
ข้อ 4 ลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรมตามข้อ 2 ต้องเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพื่อเป็นหลักฐานการทำงานของลูกจ้าง
ข้อ 5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานลูกจ้างของตน ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรมนั้นกลับเข้าทำงานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น
ข้อ 6 วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการฝึกอบรมตามข้อ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องกำหนดลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อมิให้ปะปนกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น”

ดังนั้น การจะหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่านั้น ต้องเป็นไปตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรข้างต้น โดยเฉพาะข้อ 2

Share Button

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *